วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561

สุภาษิตพระร่วง

   
สุภาษิตพระร่วง 


สุภาษิตพระร่วง 
      ไม่ทราบนามผู้แต่งและช่วงเวลาที่แต่งแน่นอน ซึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านสันนิษฐานว่าใครคือผู้แต่ง เช่น 
     - มีการรวบรวมสุภาษิตเรื่องนี้ขึ้น ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เนื่องจากมีสำนวนภาษาใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ อาจใช้ผู้แต่งหลายคน 

    - พระยาลิไทย เป็นผู้แต่ง เนื่องจากเป็นช่วงที่เจริญถึงขีดสุดและไม่มีสงคราม และพระยาลิไทยยังเชี่ยวชาญเรื่องคำสอนในศาสนาด้วย




      สุภาษิต แปลว่า ถ้อยคำที่กล่าวดีแล้ว ในบางครั้งเรียกว่า “ภาษิต” ซึ่งเป็นถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบทอดต่อกันมาช้านาน เป็นคติสอนใจ มักใช้คำสั้นๆ แต่กินความมาก และนิยมสอนแต่เรื่องดีๆ เป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิต มีทั้งข้อแนะนำ ข้อห้ามและที่เป็นคำสั่ง
แต่เดิมผู้ใหญ่คงใช้สุภาษิตในการสั่งสอน อบรมลูกหลานในการดำเนินชีวิต ให้ประสบความสำเร็จ สุภาษิตอาจสอนตรงไปตรงมา เช่น
     - มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
     - น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย

      สุภาษิตพระร่วง อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บัญญัติพระร่วง ได้รับการจารึกบนแผ่นศิลาประดับไว้ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร


        สุภาษิตพระร่วง เป็นสุภาษิตคำสอนเก่าแก่ที่สุดของไทย ที่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร เชื่อว่าเป็นวรรณคดีแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย
คำสอนบางบทในสุภาษิตพระร่วง มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น เรื่อง ลิลิตพระลอ ก่อนที่พระลอจะเดินทางไปเมืองพระเพื่อนพระแพง พระนางบุญเหลือทรงสอนพระลอว่า “ทีจะกันกันจงมั่น ทีจะคั้นคั้นจงเป็นกล” ซึ่งตรงกับคำสอนในสุภาษิตพระร่วงที่ว่า “ผิจะจับจับจงมั่น ผิจะคั้นคั้นจงตาย”
        สุภาษิตพระร่วง แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิด ร่ายสุภาพ วรรคละ ๔ - ๘ คำ และจบด้วยโคลงสองสุภาพ เช่น “หน้าศึกอย่านอนใจ” “ที่สุ้มเสือจงประหยัด” “ระบือระบิลอย่าฟังคำ” “จงยลเยี่ยงสัมฤทธิ์แตกมิเสีย”

ร่ายสุภาพ
             ป่างสมเด็จพระร่วงเจ้า       เผ้าแผ่นภพสุโขทัย      มลักเห็นในอนาคต    จึงผายพจนประภาษ
เป็นอนุสาสนกถา          สอนคณานรชน... 

โคลงสองสุภาพ
            โดยอรรถอันถ่องถ้วน         แถลงเลศเหตุเลือกล้วน
เลิศอ้างทางธรรม แลนา


คำสอนในสุภาษิตพระร่วง

        สุภาษิตพระร่วงเกิดจากการรวบรวมคำสอนหรือสุภาษิตเก่าเข้าไว้ด้วยกัน ร้อยเรียงให้สัมผัสคล้องจองกัน โดยไม่มีการแบ่งเป็นหมวดหมู่ จึงเป็นคำสอนที่คละกันและมีหัวข้อคำสอนซ้ำกันหรือใกล้เคียงกัน กระจัดกระจายตามแต่ละส่วนของคำประพันธ์
เนื้อหาคำสอนอาจแบ่งได้ดังนี้
๑. สอนให้เห็นความสำคัญของความรู้
      เช่น “เป็นคนเรียนความรู้” “เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่”
๒. ให้ทำตามประเพณี
      เช่น “ประพฤติตามบูรพระบอบ” คือควรทำทุกอย่างตามประเพณีที่เคยถือปฏิบัติกันมาแต่อดีต
๓. ให้เห็นความสำคัญของญาติพี่น้อง
      เช่น “อย่ารักห่างกว่าชิด” มีความหมายว่า ให้เห็นความสำคัญของญาติพี่น้องกัน มากกว่าคนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง “ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก” คือ ให้เป็นคนกตัญญูรู้คุณ
๔. ให้ทำสิ่งที่เหมาะแก่กาลเทศะ
       เช่น “ยอครูยอต่อหน้า ยอข้าเมื่อแล้วกิจ ยอมิตรเมื่อลับหลัง
                ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ เยียวสะเทินจะอดสู”
       หมายความว่า การจะชมใครก็ให้เหมาะสมแก่โอกาส คือ กล่าวชมครูเมื่ออยู่ต่อหน้า ควรชมบ่าวไพร่เมื่อทำงานแล้วเสร็จ ควรชมเพื่อนลับหลัง และไม่ควรชมลูกเมียที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะหากไม่ดีก็จะตลอดจะขายหน้าได้
๕. ให้มองการณ์ไก
      เช่น “อย่ายลเหตุแต่ใกล้” หมายความว่า อย่ามองแต่เรื่องเฉพาะหน้าเท่านั้น
             “อย่ายลเยี่ยงถ้วยแตกมิมิด จงยลเยี่ยงสัมฤทธิ์แตกมิเสีย” หมายความว่า อย่าทะเลากับใครจนถึงแตกหัก เพราะจะสนิทกันเหมือนเดิมได้ยาก เหมือนถ้วยกระเบื้องเมื่อแตกแล้วไม่สามารถต่อเหมือนเดิมได้ ควรผูกมิตรให้เหมือนสัมฤทธิ์ที่แตกแล้วยังเชื่อมต่อกันได้
๖. ให้ระมัดระวังตน อย่าหาเรื่องใส่ตัวหรืออย่าประมาท
      เช่น “เดินทางอย่าเปลี่ยว” หมายความว่า ไม่ควรเดินตามลำพัง ควรมีเพื่อนไปด้วย หากเกิดอันตรายจะได้มีคนช่วย
            “ที่สุ้มเสือจงประหยัด” หมายความว่า ต้องระวังตัวให้ดี หากต้องเข้าไปในบริเวณที่มีสัตว์ร้าย
๗. ให้มีใจหนักแน่น ไม่เชื่อข่าวลือ
     เช่น “ระบิลระบืออย่าฟังคำ”
๘. อย่าเสียอารมณ์เป็นประจำ
     เช่น “อย่ากริ้วโกรธเนืองนิตย์”



เนื้อหาของสุภาษิตพระร่วง

       ป่างสมเด็จพระร่วงเจ้า      เผ้าแผ่นภพสุโขทัย           มลักเห็นในอนาคต
จึงผายพจนประภาษ                เป็นอนุสาสนกถา              สอนคณานรชน
ทั่วธราดลพึงเพียร                   เรียนอำรุงผดุงอาตม์          อย่าคลาคลาดคลาถ้อย
เมื่อน้อยให้เรียนวิชา                ให้หาสินเมื่อใหญ่              อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน
อย่าริร่านแก่ความ                    ประกอบตามบูรพระบอบ    อย่าแต่ชอบเสียผิด
อย่าประกอบกิจเป็นพาล          อย่าอวดหาญแก่เพื่อน       เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า
หน้าศึกอย่านอนใจ                 ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน      การเรือนตนเร่งคิด
อย่านั่งชิดผู้ใหญ่                     อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์          ที่รักอย่าดูถูก
ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง                 สร้างกุศลอย่ารู้โรย              อย่าโดยคำคนพลอด
เข็นเรือทอดกลางถนน            เป็นคนอย่าทำใหญ่             ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน
คบขุนนางอย่าโหด                 โทษตนผิดรำพึง                  อย่าคะนึงถึงโทษท่าน
หว่านพืชจักเอาผล                  เลี้ยงคนจักกินแรง               อย่าขัดแข้งผู้ใหญ่
อย่าใฝ่ตนให้เกิน                     เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว       น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
ที่สุ้มเสือจงประหยัด                จงเร่งระมัดฟืนไฟ                ตนเป็นไทอย่าคบทาส
อย่าประมาทท่านผู้ดี                มีสินอย่าอวดมั่ง                  ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ
ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก      ทำรั้วเรือกไว้กันตน             คนรักอย่าวางใจ
ที่มีภัยพึงหลีก                          ปลีกตนไปโดยด่วน            ได้ส่วนอย่ามักมาก
อย่ามีปากว่าคน                        รักตนกว่ารักทรัพย์              อย่าได้รับของเข็ญ
เห็นงามตาอย่าปอง                  ของฝากท่านอย่ารับ           ที่ทับจงมีไฟ
ที่ไปจงมีเพื่อน                          ที่แถวเถื่อนไคลคลา
ครูบาสอนอย่าโกรธ                  โทษตนผิดพึงรู้                   สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์
ภักดีอย่าด่วนเคียด                    อย่าเบียดเสียดแก่มิตร        ที่ผิดชอบเตือนตอบ
ที่ชอบช่วยยกยอ                       อย่าขอของรักมิตร              ชอบชิดมักจางจาก
พบศัตรูปากปราศรัย                  ความในอย่าไขเขา             อย่ามัวเมาเนืองนิตย์
คิดตรองตรึกทุกเมื่อ                  พึงผันเผื่อต่อญาติ               รู้ที่ขลาดที่หาญ
คนพาลอย่าพาลผิด                  อย่าผูกมิตรไมตรี                 เมื่อพาทีพึงตอบ
จงนอบนบผู้ใหญ่                      ช้างไล่แล่นเลี่ยงหลบ          สุวานขบอย่าขบตอบ
อย่ากอปรจิตริษยา                    เจรจาตามคดี                       อย่าปลุกผีกลางคลอง
อย่าปองเรียนอาถรรพ์               พลันฉิบหายวายม้วย            อย่ายลเยี่ยงถ้วยแตกมิมิด
จงยลเยี่ยงสัมฤทธิ์แตกมิเสีย     ลูกเมียอย่าวางใจ                 ภายในอย่านำออก
ภายนอกอย่านำเข้า                   อาสาเจ้าจนตัวตาย              อาสานายจงพอแรง
ของแพงอย่ามักกิน                    อย่ายินคำคนโลภ                โอบอ้อมเอาใจคน
อย่ายลเหตุผลแต่ใกล้                ท่านไท้อย่าหมายโทษ        คนโหดให้เอ็นดู
ยอครูยอต่อหน้า                         ยอข้าเมื่อแล้วกิจ                 ยอมมิตรเมื่อลับหลัง
ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ              เยียวสะเทินจะอดสู              อย่าชังครูชังมิตร
ผิดอย่าเอาเอาแต่ชอบ               นอบตนต่อผู้เฒ่า                  เข้าออกอย่าวางใจ
ระวังระไวหน้าหลัง                     เยียวผู้ชังจะคอยโทษ           อยากริ้วโกรธเนืองนิตย์
ผิวผิดปลิดไป่ร้าง                       ข้างตนไว้อาวุธ                     เครื่องสรรพยุทธอย่าวางจิต
คิดทุกข์ในสงสาร                       อย่าทำการที่ผิด                   คิดขวนขวายที่ชอบ
โต้ตอบอย่าเสียคำ                     คนขำอย่าร่วมรัก                   พรรคพวกพึงทำนุก
ปลุกเอาแรงทั่วตน                     ยลเยี่ยงไก่นกกะทา              พาลูกหลานมากิน
ระบือระบิลอย่าฟังความ             การจะทำอย่าด่วนได้            อย่าใช้คนบังบด
ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก           ฝากของรักจงพอใจ              เฝ้าท้าวไทอย่าทะนง
ภักดีจงอย่าเกียจ                        เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ        นอบนบใจบริสุทธิ์
อย่าขุดคนด้วยปาก                    อย่าถากคนด้วยตา                อย่าพาผิดด้วยหู
อย่าเลียนครูเตือนด่า                  อย่าริกล่าวคำคด                   คนทรยศอย่าเชื่อ
อย่าแผ่เผื่อความผิด                   อย่าผูกมิตรคนจร                  ท่านสอนอย่าสอนตอบ
ความชอบจำใส่ใจ                      ระวังระไวที่ไปมา                   เมตตาตอบต่อมิตร
คิดแล้วจึงเจรจา                         อย่านินทาผู้อื่น                      อย่าตื่นยกยอตน
คนจนอย่าดูถูก                           ปลูกไมตรีทั่วชน                    ตระกูลตนจงคำนับ
 อย่าจับลิ้นแก่คน                       ท่านรักตนจงรักตอบ              ท่านนอบตนจงนอบแทน
ความแหนให้ประหยัด                เผ่ากษัตริย์เพลิงงู                  อย่าดูถูกว่าน้อย
หิ่งห้อยอย่าแข่งไฟ                    อย่าปองภัยต่อท้าว                อย่ามักห้าวพลันแตก
อย่าเข้าแบกงาช้าง                    อย่าออกก้างขุนนาง               ปางมีชอบท่านช่วย
ปางป่วยท่านชิงชัง                    ผิจะบังบังจงลับ                      ผิจะจับจับจงมั่น
ผิจะคั้นคั้นจงตาย                      ผิจะหมายหมายจงแท้            ผิจะแก้แก้จงกระจ่าง
อย่ารักห่างกว่าชิด                     คิดข้างหน้าอย่าเบา                อย่าถือเอาตื้นกว่าลึก
เมื่อศึกเข้าระวังตน                    เป็นคนเรียนความรู้                  จงยิ่งยิ่งผู้มียศ
อย่ามักง่ายมิดี                           อย่าตีงูให้แก่กา                       อย่าตีปลาหน้าไซ
อย่าใจเบาจงหนัก                     อย่าตีสนุขห้ามเห่า                   ข้าเก่าร้ายอดเอา
อย่ารักเหากว่าผม                      อย่ารักลมกว่าน้ำ                      อย่ารักถ้ำกว่าเรือน
อย่ารักเดือนกว่าตะวัน                สบสิ่งสรรพโอวาท                   ผู้เป็นปราชญ์พึงสดับ
ตรับตริตรองปฏิบัติ                    โดยอรรถอันถ่องถ้วน                แถลงเลศเหตุเลือกล้วน
เลิศอ้างทางธรรม  แลนา




อ้างอิง

http://www.digitalschool.club/digitalschool/thai1_3_1/thai3_4/index3_4.php

http://www.digitalschool.club/digitalschool/thai1_3_1/thai3_4/content03.php







1 ความคิดเห็น: